Feeds:
Posts
Comments

เมื่อหลายวันก่อนโมโหอะไรสักอย่าง จำไม่ได้แล้ว แต่เรื่องมันเกิดขึ้นจาก “พฤติกรรม” ของคนบางคน ซึ่งเดิมทีเป็นกลุ่มคนที่เราค่อนข้างรำคาญอยู่แล้ว และสงสัยในความเป็นอยู่ของพวกเขามาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม (ขอยกตัวอย่าง อะไรที่หล่อหลอมให้คุณปลอดประสพ สุรสวดี บ้าบอคอแตกขนาดนี้ หรืออะไรที่ทำให้บังยี-วรวีร์​ มะกูดี หน้าดานหน้าทนและยังคงยืนอยู่ในตำแหน่งนี้ได้ ไปจนกระทั่งนักการเมืองที่ทุกคนในประเทศเอือม ทุกคนรู้ แต่ท่านเหล่านั้นเท่านั้นที่ไม่รู้

เอาจากบรรทัดฐานของสังคมที่ผมอยู่เป็นทุน เข้าใจว่าทุกคนล้วนมีชีวิตอยู่ด้วยสติปัญญาที่ถูกหล่อหลอมมาจากสังคมรอบข้าง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า (แค่อาจจะเป็นไปได้นะครับ) ว่าคุณๆ ท่านๆ ที่ผมว่าไปด้านบน อาจจะเป็นบุคคลมีความสามารถจริง ก็คงจะเก่งกาจเพราะดูจากยศและตำแหน่ง ถ้าไม่เจ๋งจริงก็คงจะไม่ได้ขึ้นไปอยู่บนยอดพีระมิดของแวดวงที่สังกัดอยู่ได้ แต่ที่ทำตัวปัญญาอ่อนก็เป็นการจัดฉากให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ (การมีเหตุผลนั้นถูกหักล้างง่ายกว่าการทำตัวโง่ๆ และไร้เหตุผลกว่ามาก เพราะจับต้องไม่ได้ สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือ ยักไหล่ และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไป)

แต่ที่หัวข้อบล็อกตอนนี้พยายามจะบอกคือกลุ่มคนที่ใช้สมองอย่างผิดปกติจริงๆ ครับ

คำว่า “ปัญญาอ่อน” ในสังคมที่เราใช้กันอยู่ มีด้วยการหลายลักษณะ 1) ปัญญาอ่อนในลักษณะทีเล่นทีจริง เราด่าเพื่อนฝูงว่าปัญญาอ่อน เพื่อแสดงว่าเราไม่เห็นด้วยและออกจะขำๆ กับพฤติกรรมของพวกเขา เช่น เพื่อนเต้นท่าลิงกลางออฟฟิซ ก็อาจด่าได้ว่า “ปัญญาอ่อนว่ะมึง” และ 2) ปัญญาอ่อนที่ใช้กับคนที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับประสาทจริงๆ เช่น เด็กดาวซินโดรม

ลักษณะแรกผมไม่ติดใจอะไรเพราะคิดว่ามันเป็นด่าและเสียดสีกันเล่นๆ เหมือนคำว่า “บ้า” ซึ่งเราต่างเองก็รู้ว่าพวกเราไม่ได้บ้า และไม่ได้ป่วยหรือมีปัญหาทางจิตในทางแพทย์เหมือนกับคนไข้ที่อยู่ในโรงพยาบาล เมื่อถูกด่าว่าปัญญาอ่อนก็แค่รับมาและยักไหล่ว่ามันไม่จริง เราแค่ทำอะไรเพี้ยนๆ ไปก็เท่านั้น

แต่ลักษณะที่สองนั้นผมไม่เห็นด้วย เพราะคนที่ป่วยทางจิตนั้นพวกเขาไม่ใช่ปัญญาอ่อน เขาเป็นคนป่วยและมีความผิดปกติเชิงกายภาพ คำว่า “ปัญญาอ่อน” เป็นแค่คำที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปลอบประโลมพ่อแม่พี่น้องของผู้ป่วย เรียกผู้ป่วยด้วยคำที่ละมุนละไมที่สุด จับพวกเขามาอยู่ฝ่ายฝั่งเดียวกีบเราให้มากที่สุด บอกว่าเขาก็มีปัญญาเหมือนเรา แค่เพียงมันผิดปกติที่ใช้งานไม่ได้ตามปกติเท่านั้น

สำหรับผม คำว่า “ปัญญาอ่อน” นั้นมันมีความหมายอย่างที่คำมันบอกจริงๆ “ปัญญา” “อ่อน” คือมีการใช้ปัญญาอย่างอ่อนแอ ไม่มีตรรกะหรือความเชื่อมโยงของเหตุ-ผล หรือกระทั่งความถูกต้องของศีลธรรมกระทั่งมารยาททางสังคม

คนปัญญาอ่อนคือคนปกติที่เราเห็นอยู่บนถนน อยู่บนรถไฟฟ้า ในห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เป็นคนที่ไม่ผิดปกติเชิงกายภาพ แต่ผิดปกติทางการใช้ปัญญา เหมือนคน เล่นบาสอ่อน เล่นกีตาร์อ่อน ใช้คอมพิวเตอร์อ่อน พวกเขาใช้ปัญญาได้โคตรอ่อน

ปัญญาที่ว่าคือความนึก-คิด ซึ่งมันหมายความว่า “ไม่นึกถึงคนอื่น” “ไม่นึกถึงความจริง” “ไม่นึกถึงสิ่งรอบตัว” “ไม่นึกถึงอนาคต” บางครั้งพวกเขายัง “ไม่นึกถึงตนเอง” รวมทั้ง “คิดไม่ออกว่าอะไรมันเชื่อมโยงอะไรให้เข้ากันบ้าง” “คิดไม่ออกว่าควรจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร” หรือจะบอกว่าพวกเขา “คิดไม่เป็น” ก็อาจจะได้ โดยปัญญาอ่อนนี่ก็มีหลายระดับ ก็เหมือนกับการที่คนๆ หนึ่งเล่นกีตาร์ได้แค่ 3 คอร์ด ต่างจากอีกคนที่จับได้แค่คอร์ดเดียว แถมยังเป็นคอร์ดเดียวแบบบอดๆ อีกด้วย แน่นอนครับ ว่าบางคนทำได้แค่นั้น แต่ก็ยัง “คิด” ไม่ได้ว่าตัวเองนั้นยังเล่นกีตาร์อ่อนปวกเปียก กลับไปคุยโม้โอ้อวดว่าตัวเองนั้นผ่านการฝึกฝนจนชำนิชำนาญไปแล้ว นี่คือปัญญาอ่อน

ความอ่อนของปัญญาที่อ่อน ยังผกผันกับคนที่มาตีค่าความอ่อนนั้นด้วย เพราะเมื่อมองลึกถึงระบบความคิดของแต่ละคน ก็จะพบรูรั่วรอยโหว่ตามประสบการณ์และสายตาของปัญญา (อย่างผมที่กำลังเขียนอยู่นี้ หลายๆ คนก็อาจจะเห็นว่าปัญญาอ่อนมากๆ อยู่ก็เป็นได้)

ดังนั้น คำว่า “ปัญญาอ่อน” นั้นคู่ควรกับคนที่ทำตัว “ปัญญาอ่อน” จริงๆ แต่อย่าลืมว่าก่อนที่คนนั้นจะถูกด่าว่าปัญญาอ่อนก็คงจะไปแสดงตัวว่าปัญญาอ่อนให้คนอื่นเห็นมาก่อนถึงได้ถูกด่าด้วยคำคำนี้

และเรื่องจริงของความ “อ่อน” ก็คือ หลายๆ อย่าง (หรืออาจแทบทุกอย่าง) สามารถแข็งแรงขึ้นได้ตามความฝึกซ้อมและทำซ้ำด้วยสารพัดวิธี บางวิธีอาจเป็นทางที่ถูกต้อง แข็งแรงได้อย่างรวดเร็ว บางทางอาจผิดพลาด(หรืออาจถูกต้องน้อยหน่อย) แต่ปัญญาของเราก็แข็งขึ้นได้เป็นระดับด้วยการใช้ปัญญาซ้ำๆๆๆๆ แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะออกกำลังปัญญากันยังไง เหมือนการอ่าน อ่านงานที่มีประโยชน์มันก็น่าจะทำให้ชีวิตเราดีมากกว่าการอ่านเรื่องเสียวมากกว่าเป็นไหนๆ (โอเค มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำงานอะไรด้วย คุณอาจจะเป็นคอลัมนิสต์แนะนำเรื่องเสียว การอ่านลักษณะนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องดีสำหรับคุณ) การใช้ปัญญาเกี่ยวข้องกับความคิดและการขบคิด ก็ควรจะหาเรื่องที่เหมาะสมแก่การขบ

ที่บ่นมาทั้งหมดก็เพราะรู้สึกหงุดหงิดกับการที่เด็กปัญญาอ่อนถูกจัดหมวดหมู่คู่ไปกับปัญญาอ่อนในความหมายเชิง “ใช้ปัญญาไม่เป็นทั้งที่มีความสามารถทำได้” เพราะผมเชื่อว่าถ้าเด็กดาวฯ หรือ “เด็กปัญญาอ่อน” เหล่านั้นมีทุกสิ่งปกติ

เขาอาจจะไม่ “ปัญญาอ่อน” เหมือนคนบางคนที่ครบ 32 แต่ว่าใช้ปัญญาไม่เป็น

เมื่อหลายวันก่อนอัพบล็อกว่าไม่ค่อยได้ดูหนัง วันนี้ก็ได้ดูเลยแฮะ และเรื่องที่ดูก็เป็นสูตรๆ ของคนกรุงเทพฯ ช่วงนี้คือ “พี่มาก…พระโขนง” (ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมี จุดจุดจุด ด้วย เพราะว่าเสริมความงง ความอึน หรืออะไรหว่า?)

ที่งงเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้มาสักพักแล้วคือ ทำไมมันแรงนักนะ เข้าใจแหละว่าคงสนุก ตลก หรืออะไรก็ตาม แต่การที่วันนี้โทรไปถามโรงหนังตั้งแต่กลางวัน และพบว่ารอบเต็มไปจนถึงสองทุ่มมันไม่ใช่เรื่องปกติแล้ว นี่มันเทศกาลไม่ใช่เหรอ ทำไมไม่ไปเล่นน้ำกัน มาดูหนังทำไม (แล้วมึงล่ะ / เออ เนอะ) แต่เอาไปเอามา บุญพาวาสนาส่งก็ได้เข้าไปดูจนได้ฮ่ะ

ก่อนจะดูรู้สึกว่าตื่นเต้นผิดปกติ ไม่ใช่เพราะไม่ได้เข้าโรงหนังมานานด้วยนะ แต่เพราะอะไรก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน แต่จับความรู้สึกได้เลาๆ ว่าเป็นเพราะเหมือนจะเข้าไป “ลองของ” …นี่มันหนัง 300 ล้านเลยนะว้อย (ป่านนี้เกือบจะสี่แล้วมั้ง?) นี่มันเรื่องที่ทำลายสถิติสารพัดของวงการหนังไทยเลยนะว้อย (ถึงค่าเงิน ค่าตั๋ว หรือไลฟ์สไตล์ของคนไทยจะเปลี่ยนไปบ้างจากเมื่อก่อนก็ตาม)

แอบออกไปฉี่ระหว่างหนังฉายทีนึง พอหนังจบ ก็คิดยังงี้

“พี่มากฯ​” เป็นหนังสูตรๆ ถ้าบอกว่าเป็นหนังตลกก็เป็นหนังตลกที่เราคุ้นเคยกัน เหมือนดูซิตคอมโวยวายๆ เรื่องนึง ที่เราก็ชินเสียงของคุณฟรอยด์ หรือคำด่าหยาบๆ คายๆ ของคุณเผือกมาแล้ว มุขส่วนใหญ่ที่ใช้ก็งั้นๆ ไม่มีอะไรใหม่ และมันก็ยังขำอยู่นะ (คือไม่สด แต่มันเป็นสูตร ที่เห็นตลกตบหัวกันเราก็ขำแล้ว ไรงั้น) ดังนั้นเรื่องความเป็นหนังตลก พี่มากฯ สอบผ่านแบบคาบเส้น (เอ่อ…นี่กูเอาสิทธิอะไรไปคาดโทษคาดเกรดเขาวะ แต่เอาเถอะ ใช้คำนี้แล้วดูเป็นผู้เป็นคนดี มายาคติแท้ๆ)

ผมชอบมาริโอ้ เมาเร่อในเรื่องนี้มากๆ แต่ไม่ใช่เริ่มชอบจากหนังเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้ก็ชอบอยู่แล้ว ถึงคนอื่นจะบอกว่าหล่อแต่เอ๋อๆ โง่ๆ ก็ตามที แต่คิดว่าบุคลิกแบบนี้นี่แหละที่ชอบ ซึ่งแทนที่จะเอาแต่สวมบทคุณชาย หล่อๆ ควายๆ ก็เล่นแบบนี้นี่แหละ หล่อ ตลก ไม่แคร์สื่อ เหมาะสมและน่ารักดี เชื่อว่าคนที่เคยหมั่นไส้มาริโอ้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร ในเรื่องนี้จะหาย และคิดว่าอยากได้ไอ้นี่มาเป็นเพื่อนในกลุ่มแทน (แต่อาจจะแบนมันในที่สุดเพราะว่าเดินไปไหนผู้หญิงก็มองแต่มัน กูเป็นปมด้อยเข้าใจปะ (ตบหัว))

เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างเรียบง่าย เป็นหนังนอสตัลเจียลูกผสม ผมไม่รู้ว่ามันเรียกว่ายังไง บางคนบอกว่าผู้กำกับสร้างโลกใหม่ขึ้นมาเลย ไม่มีวัน เวลา ซึ่งผมคิดว่ามันก็ไม่ค่อยจะแปลกประหลาดอะไรตรงไหน เพราะยังไงมันก็ขึ้นชื่อว่าเป็นภาพยนตร์ ไม่เห็นจะต้องอิงอะไรกับหลักความจริงนัก ถึงย่านาก ปู่มาก จะเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยไหน และการตีความอะไรใหม่ๆ มันก็ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร ผมถึงไม่ค่อยจะอินกับการที่หนังสักเรื่องหยิบจับหนังเก่าๆ หรือเนื้อเรื่องเดิมๆ มาทำให้ดูเป็นสมัยใหม่ก็ตาม และตลอดเรื่องก็พยายามเฝ้ามองการรีเมกครั้งนี้อย่างดีอยู่ดี

และถึงกับน็อก

ตลอดทางครึ่งเรื่องแรก อย่างที่ผมบอกว่ามันเป็นหนังสูตรๆ ไม่เห็นจะต้องใช้ความสามารถอะไร แค่หยิบยกมุข เล่นคำสมัยใหม่บ้าง เก่าบ้าง คอสตูมก็ไม่เห็นว่าจะหวือหวา ใหม่-ดาวิกา สวย (อันนี้นอกเรื่อง) แต่พอเริ่มชินกับสไตล์ของเรื่องอย่างนั้น เรื่องก็ดำเนินมาถึงช่วงกลางที่เริ่มมีการคลายปมของนางนาก (เอ๊ะ สะกดด้วย กอไก่ หรือ คอควายนะ?) ผมก็เริ่มเห็นวิธีการที่ขี้เล่นโคตรๆ ของผู้กำกับ

เริ่มจากการที่นำตัวละครจากตอน “คนกลาง” ในเรื่อง “สี่แพร่ง” มารียูเนี่ยนกันใหม่ ซึ่งพอได้เห็นก็พอจะคาดเดาความวายป่วงได้อยู่แล้วในบท แต่พอมันดำเนินไปก็มีการนำเส้นเรื่องของทั้งสองตอนมายำ (บางคนอาจเห็นว่ามักง่าย แต่ผมคิดว่า เออ มันสร้างสรรค์​และหยิบจับสิ่งต่างๆ มาเล่นได้สนุก และทำให้หนังมันไม่อยู่นิ่งแค่เฉพาะเนื้องเรื่องเรื่องเดียว)

หรือถ้าจะย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ตั้งแต่เริ่มต้น การพลิกมุมมองและการตั้งคำถามว่า อะไรๆ ก็เอาแต่แม่นากๆ แล้วไม่เห็นใครเคยพูดถึงพ่อมาก กันบ้างล่ะวะ?​ นี่ก็เป็นมุมมองของคนที่น่ารักๆ อยู่แล้ว

และในการพลิกมุมมองนั้น หากเป็นคนอื่นๆ มองก็อาจจะคิดในแง่มุมน่าสงสาร อนาถใจที่จะต้องตกเป็นเหยื่อของพิษรักและความผูกพันที่เป็นไปไม่ได้ อย่างที่ตัวละครในเรื่องชี้หน้าด่าว่า “เห็นแก่ตัว” แต่ผู้กำกับกลับพาเราไปสู่คำถามอีกมากมายจากการพลิกกล่องมุมมอง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่หนังเรื่องหนึ่งพึงจะเป็น สร้างความรู้สึกบางอย่างให้คนดูติดตัวออกไป พลิกชีวิตของเขา ตั้งคำถามให้เขาตอบบางอย่างที่ไม่เคยครุ่นคิดมาก่อน

นี่คือบางคำถามที่ผมหนีบออกมาได้จากในโรง :
คำถามที่เรากังวลกันอย่างเช่น “เราจะอยู่ยังไงถ้าไม่มีเธอ” หรือ “เขาจะอยู่ได้ไหมถ้าไม่มีเรา” คนมากมายไม่กลัวความตาย แต่กลัวสิ่งที่อยู่ไกลกว่านั้น กลัวพลังของความผูกพัน กลัวสิ่งยังมองไม่เห็น และนั่นอาจเป็นพลังที่ทำให้ผีเกิดขึ้นมาจริงๆ นั่นแหละ

คำถามที่ว่า “เราจะรักกันได้มากแค่ไหน” ผมเคยคิดว่า ความรักนั้นวัดได้ ไม่ใช่เป็นนามธรรมที่หาค่าแทนไม่ได้ มันวัดได้ด้วยการยอมจำนน (ซึ่งก็อาจจะเป็นนามธรรมอีก)​ และถึงแม้มันจะบอกเป็นตัวเลขที่แม่นยำไม่ได้ แต่เราก็พอจะจินตนาการได้ว่า “รักมาก” มันมากแค่ไหน และในเรื่องนี้ก็ทำให้รู้ได้ว่าเธอรักเขามากมากแค่ไหน และย้อนกลับมาถามตัวเราทันทีว่า แล้วเราล่ะ?​ รักใครสักคนได้มากแค่ไหน รอเขาได้นานแค่ไหน

หนังไม่ได้ถามเราอย่างโต้งๆ (แต่ถามแบบพี่โต้งๆ)​ ผ่านไดอะล็อกน่ารักๆ ของผีนางนาก ถามจากฉากกวนตีนๆ ของฝูงเพื่อนจอมป่วน ในคำหยาบคายเหล่านั้น มีความเป็นจริงของสังคมซ่อนอยู่ อย่างเช่น “หาคนใหม่ได้แล้ว”​ คุณคิดดูสิว่าคำคำนี้มันหนักหนาแค่ไหนสำหรับคนที่สูญเสีย ทั้งคนที่ยังอยู่และจากไป? สิ่งเหล่านี้อยู่กับเราแทบทุกคน เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่เฉพาะคนรัก เราถึงได้อินกันนัก เป็นคำถามไม่ลึกล้ำอะไร แต่ความเรียบ ง่าย นี่แหละที่เป็นจุดเด่นของหนังเรื่องนี้

ระหว่างดู กราฟความรู้สึกมันพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ผู้กำกับโจมตีเราด้วยมุขตลกสารพัดที่ยิงออกมาไม่หยุด ละลายพฤติกรรมด้วยลักษณะคำพูดแบบปัจจุบัน และปิดด้วยความคิดเห็นเรื่องความรักหนักกบาลที่ยิงมาพร้อมกับหมัดน็อกที่แรงจนน้ำตาไหล จนรู้ตัวอีกทีกราฟที่ว่ามันก็พุ่งไปมั่วซั่วไปหมด ทั้งมีความสุข ซาบซึ้ง และชื่นชมในความขี้เล่นของเขา (ถ้าเคยดูหนังของเขามาก่อนก็จะเห็นว่าเขาใส่รายละเอียดมาสำหรับคนยุคเราจริงๆ)

ถึงจะไม่ได้อยู่หมัดขนาดอยากจะยืนสแตนดิ้งโอเอชั่น แต่ก็มองข้ามความคาดหวังและการ์ดที่ยกมือตั้งรับมาตั้งแต่แรกจนหมดเปลือก ลบทุกความคิดเชิงลบแบบไม่เหลืออะไรเลย

สรุปว่าชอบมากครับ และไม่ได้ชอบแค่มาก แต่เป็นนาก ฟรอยด์ เผือก และตัวละครแทบทุกตัว สุดท้ายก็คือหนังเรื่องนี้ และพี่โต้ง-บรรจง ผู้กำกับ ที่ทำหนังสนุกอย่างหนักเรื่องนี้ขึ้นมาได้ :)

ป.ล.ไม่รู้ว่าถือว่าเป็นรีวิวไหม เพราะไม่ได้ไปคุยเรื่องชั้นเชิงหนักๆ หรือวิธีการสร้างหนังอย่างที่คนอื่นเขามักพูดกัน เช่น โพสต์โมด้ง โพสโมเดิร์น แต่ก็เขียนเพราะสนุกกับมันจริงๆ และเป็นความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆ นั่นแหละ อย่าได้เชื่อถืออะไรมากเลยนะครับ คนอื่นมาอ่านแล้วอาจจะคิดว่าผมคิดเยอะไป หรือคิดน้อยไปก็ได้ เย่

ป.ล. 2 เขียนรอบเดียว ไม่ได้อีดิต ตรงพิมพ์ผิดหรือตกหล่นไป ขออภัยฮ่ะ

 

 

 

 

เมื่อก่อนผมมีความคิดอยู่อย่างหนึ่งแหละครับ

คือโมโหพนักงานเก็บเงินค่าทางด่วนที่อัดเสียงคำว่า​​ “ขอบคุณ” เอาไว้อยู่ตรงป้อมเก็บเงิน พอจ่ายเสร็จแล้วเซ็นเซอร์ก็จะทำงานให้เครื่องทำงาน (หรือไม่ก็เป็นพนักงานกดเอง อะไรสักอย่าง) ผมรู้สึกหงุดหงิด เพราะคิดว่า อะไรกัน แม้กระทั่งคำว่า “ขอบคุณ” ยังไม่ยอมพูดจากปากของตัวเอง นี่เราเป็นลูกค้านะ ค่าทางด่วนก็ตั้งแพง ฯลฯ

พาลเอาความคิดนี้มันตั้งแง่เป็นประเด็นสังคมต่างๆ นานา คิดว่าสมัยนี้คนมันมักง่าย เพราะมีเทคโนโลยีเป็นเร่งเร้า ถึงเสียงขอบคุณจะหวานจริงใจสักแค่ไหน แต่ภายใต้ใบหน้าอันเรียบเฉยของพนักงานในตู้นั้นมันก็ขัดแย้ง นี่ต้อง ฯลฯ ฯลฯ และคิดอะไรต่อมิอะไรที่เด็กวัยขบถพอจะคิดได้

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็คิดว่าช่วงชีวิตนั้นมันก็เป็นแค่ช่วงวัยที่ต้องการจะมีความคิด เราจึงคิด คิดโดยไม่มีอะไรมารองรับ คิดไปเองอยู่ฝ่ายเดียวนั่นแหละ

เมื่อสองวันก่อน ผมขับรถขึ้นทางด่วน จ่ายเงินสี่สิบห้าบาท พนักงานไม่ขอบคุณอะไรเช่นเดิม และยังมีเสียงจากเครื่องอัดเสียงมาขอบคุณแทนเหมือนเดิม คราวนี้ไม่ค่อยจะหงุดหงิดแล้ว แต่มันทำให้ผมลองพิจารณา

1. ไม่ถึงสิบวินาทีที่ผมเปิดกระจกรถลง ไอความร้อนระอุมันแทรกตัวเข้ามาทางหน้าต่าง ขนาดใส่แว่นกันแดดแล้วก็ยังรู้สึกถึงความร้อนที่สกปรกไปด้วยควันรถ แล้วจะประสาอะไรกับพวกเขาที่จะต้องเปิดหน้าต่างอยู่ตลอดเวลาทุกวัน ไอ้พวกรถอีโคคาร์ก็คงไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นกระบะเดนตายที่ควันแม่งดำระดับ K100 นี่ก็คงทำให้เซ็งอยู่เหมือนกัน จะปิดกระจกหนีก็ไม่ได้อีก แม่ง

2. มลภาวะทางเสียง ล้อบดถนน เบรกเอี๊ยดอ๊าดนั่นไม่ใช่สิ่งที่น่าฟังเลยนะครับ หรือจะเป็นเสียงรถยนต์วิ่งไปมาเร็วๆ ช้าๆ เสียงรถบรรทุกผ่านถนนขรุขระ ต่างจากเพลงที่เราฟังในรถมากๆ เลยล่ะ ถึงผมจะเคยเจอบางป้อมเปิดเพลงลูกทุ่งเสียงดังพร้อมกับแดนซ์ แต่ก็คิดว่าฟังไปนานๆ มันก็คงจะเบื่อบ้าง

3. ผมไม่รู้ว่าวันนี้ตัวเองเป็นรถคันที่เท่าไหร่ที่พนักงานจะต้องเก็บเงิน พิจารณาว่าจ่ายด้วยแบงค์อะไร ทอนเงินให้ครบจำนวน (เพราะถ้าทอนไม่ครบจะถูกด่ายกกรม) แต่เท่าที่คำนวณ ต่อวันพวกเขาน่าจะต้องเจอคนแปลกหน้าไม่น่าจะต่ำกว่า 1 พันคัน

4. ใน 1 พันคัน เราลองคิดดูว่า การยืนมือรับ-หยิบ-ยื่นเงินทอน มันจะเมื่อยสักแค่ไหน แค่เราพิมพ์คอมพิวเตอร์ทุกวันยังรู้สึกว่าเมื่อยจะตายหองอยู่แล้ว (แถมยังลามเลียไปโทษคุณภาพชีวิตนั่นนี่ หาว่าเป็นออฟฟิซซินโดรมด้วย อ๋อ ส่วนหนังสือ “ออฟฟิซ ซิสต้า” เป็นของสนพ.แซลมอน เขียนโดย ปลารี่ ก็อย่าลืมไปซื้อหา – พื้นที่โฆษณา)

5. ใน 1พันคัน หากจะต้องกล่าว “ขอบคุณ” เป็นพันครั้งโดยที่ยังไม่รวมคนที่ถามทางลงต่างๆ (ผมเคยถามไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง) แค่คิดก็รู้สึกเจ็บคอขึ้นมาตระหงิด เพราะแค่บางทีสัมภาษณ์นิตยสาร หรือคุยกับเพื่อนแค่ชั่วโมงเดียวเราก็เสียงแหบเสียงแห้งแล้วนะ

6. หรือถ้าจะต้องกล่าว “ขอบคุณ” ภายใต้หน้ากากกันมลพิษ ก็คงจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปเป็นอย่างอื่นอีก บางทีลูกค้าก็อาจจะไม่รู้เรื่อง เข้าใจผิดว่าไปด่า ก็อาจจะลงมากระทืบกันอีก จะซวย เสี่ยงจะเป็นมะเร็งแล้วยังจะต้องเสี่ยงตีนอีก แย่ๆ

7. การทำงานในตู้เล็กๆ กว้างแค่ 3 ลูกบาศก์เมตร คิดว่ามันน่าอภิรมย์ตรงไหนกัน? บางวูบผมเคยคิดว่ามันก็สบายดีนะ เป็นงานที่ไม่ต้องใช้ความคิดอะไร แค่ทอนเงินไปวันๆ แต่พอมานั่งนึก เออ เขาก็ต้องใช้เยอะนะ อย่างน้อยก็สตินั่นแหละ ลูกค้าเดี๋ยวแม่งให้เป็นเหรียญบาททั้งหมด แบงก์พันก็กลัวจะโดนโกง ไอ้นี่จะเอาใบเสร็จ ไอ้นั่นขอแลกแบงก์ กูหน้าตาดีหน่อยก็โดนไอ้หนุ่มรถกระบะหม้ออีก โอย เยอะแยะ

8. พอทำงานในห้องแคบๆ เวลาจะขยับตัวทีก็ลำบาก จะไปห้องน้ำทีก็ยาก ไม่เหมือนมนุษย์ออฟฟิซอย่างเราที่ปวดตอนไหนก็ไปได้ แต่นี่ถ้าประชาชนรอคิวอยู่มากก็ไม่สามารถ ต้องอั้นเอาไว้ สะกดเอาไว้เพื่อการคมนาคมที่สะดวกสบาย

9. สำหรับสวัสดิการ ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาได้รับค่าตอบแทนยังไง แต่ถ้าเทียบกับคุณภาพชีวิต เสี่ยงโรคเสี่ยงภัย ต้องดมควันรถทุกวัน ต้องมาทำงานเป็นกะ อิสระก็ไม่มี ผมเดาได้ว่ามันไม่ค่อยคุ้ม และเชื่อว่าตัวเงินมันก็คงไม่เยอะด้วย และคิดว่าถ้าเขาเลือกได้ ก็คงจะไปทำอย่างอื่น

คิดเร็วๆ ยังได้ประมาณนี้ ตลกตัวเองที่อุตส่าห์ไปตั้งแง่อะไรกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แค่คำขอบคุณ งี่เง่าไม่เบา

บางทีเราเองไปโฟกัสกับอะไรที่มันเกี่ยวข้องกับตัวเราเองเท่านั้น บางสิ่งที่เราคิดว่าเราควรจะได้ แต่ลืมไปว่าบางครั้งที่เราไม่ได้ไม่ใช่เพราะคนอื่นมันงี่เง่า ไม่ได้ดูสภาพแวดล้อมอื่นๆ หรือไม่ก็ไม่เคยสำรวจว่าที่เราหงุดหงิดเพราะความต้องการและตรรกะระดับผิดเพี้ยนของเราเอง

ผมเคยได้ยินหลายๆ คนพูดว่าการเดินทางในตนเองเป็นส่ิงที่ประเสริฐที่สุด ไปได้ไกลที่สุด แต่พอเจออย่างนี้แล้วก็คิดว่า เราต้องรู้เรื่องของโลกภายนอกให้ได้ก่อนมากกว่าถึงจะมาพิจารณาตนเองได้

ในกรณีนี้ก็เหมือนกัน เราควรจะต้องเห็นใจของคนอื่นเสียก่อน ถึงจะได้เห็นใจของตัวเอง อย่างน้อยถ้ามันไม่ถ่องแท้ แต่มันก็คงจะเที่ยงธรรมขึ้นบ้างล่ะ

เห็นในไทม์ไลน์พูดเรื่องเดียวกันมานานเป็นอาทิตย์แล้วเกี่ยวกับภาพยนตร์ ไม่ “พี่มากฯ” ก็ “คู่กรรม” รู้สึกอึดอัดใจนิดหน่อยเพราะยังไม่ได้ดู ที่จริงแล้วยังไม่เห็นโปสเตอร์ของจริงจากทั้งสองเรื่องนี้เลยมากกว่า เนื่องจากแทบจะไม่ได้โผล่ไปย่างกรายแถวๆ ที่มีโรงฯ เลยอะนะ นับๆ แล้วก็โคตรนานที่ไม่ได้เข้าโรงหนังเลย นี่นั่งนึกอยู่ว่าล่าสุดที่ไปดูมาคือเรื่องอะไร…จำไม่ได้แล้วอะ

ที่จริงก็มีจังหวะที่จะได้ไปดูอยู่บ้างแหละ แต่สุดท้ายก็ไม่มีบุญวาสนาพอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวลาเราไม่ตรงกัน เราที่ว่าคือผมกับแฟนนั่นแหละครับ (ที่จริงเธอก็ชวนๆ ไปดู แต่บางวันก็เหนื่อยเกินจะกลับบ้านดึกดื่น ก็เลยอด ไรงี้) ครั้นจะไปดูคนเดียวมันก็รู้สึกว่าเป็นบาปเล็กน้อย ซึ่งที่จริงมันก็ไม่บาปอะไรนี่หว่า แต่ทำไมเราต้องรู้สึก วันนี้ก็เลยมานั่งนึกๆ พบว่า “สาเหตุที่เราต้องไปดูหนังพร้อมแฟน” มันน่าจะมีประมาณนี้ แต่ก่อนอื่นเริ่มจาก ทำไมเราต้องดูหนังก่อนดีกว่า

นอกจากจะเพื่อความบันเทิงส่วนตัวแล้ว การดูหนังนั้นเป็นการเสริมสถานะทางสังคม และสร้างภูมิต้านทานไปด้วยพร้อมๆ กัน ที่ว่าเสริมก็คือ กูจะได้ไม่ตกยุค ใครพูดอะไรก็สนุกด้วยได้ เออออไปด้วยได้ หรือพอเวลามีบทวิจารณ์จากกูรูก็จะได้อ่านและวิเคราะห์ตามไปได้ด้วย คือแค่ยก Quote มาแล้วเติมความเห็นไปนิดหน่อยแม่งก็โคตรเท่แล้วอะ คิดดู กูนี่ทันสมัยแถมยังมีความคิดอีกด้วยนะโว้ย ฯลฯ นอกจากนั้นการไปดูหนังก็ยังเป็นอาวุธเอาไว้แกล้งเพื่อนได้ด้วยนะ แกล้งสปอยล์แม่ง หยอกเย้าให้มันโมโหอย่างบันเทิงเริงใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นโล่ป้องกันการสปอยล์จากคนอื่นด้วย ประมาณว่าไปเช็กชื่อมาแล้ว มึงไม่มีสิทธิที่จะมารังแกกูแต่อย่างใด วะฮ่าฮ่า อะไรทำนองนั้น

และที่จริงการดูหนังสักเรื่องมันก็โคตรจะง่าย ง่ายกว่าเติมตังค์โทรศัพท์มือถืออีกล่ะมั้ง แต่กระนั้นเราก็ยังต้องรอไปดูกับแฟน เพราะอะไร?​

เพราะเราไม่รู้อนาคตไงครับ ถึงแม้เราจะขอวีซ่าไปดูคนเดียวได้โดยมีสนธิสัญญาว่าห้ามงอนนะเธอ อย่าหาว่าทิ้งนะมึง เราก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เผื่อว่าวันดีคืนดีบิ๊กซีนีม่ามันจะเอาฉายตอนที่กำลังอยู่ด้วยกันพอดี มันก็กดดันนะครับ

กดดันที่ 1 : คันปากอยากจะเล่าว่าแม่งสนุกยังไง ไม่สนุกยังไง แถมไม่ว่าทางไหนแม่งก็บัดซบทั้งขึ้นทั้งล่อง ถ้ามันเกิดสนุกขึ้นมา ไปเล่า นอกจากจะโดนตบปากว่าสปอยล์แล้วก็ยังอาจมีสงครามเย็นย่อยๆ เกิดขึ้น “ใช่สิ มึงหนีกูไปดูมานี่ จำได้นะอีห่า ให้กูทำงานงกๆๆ ส่วนมึงไปนั่งตากแอร์รัวๆ สองชั่วโมง สัด” “เออ ก็ตัวเองดูแล้วนี่ งั้นเราเปลี่ยนดีกว่า ขี้เกียจดูแล้ว”​ (อ้าว…) “สนุกมากมะ?” (นั่น…) เป็นต้น

กดดันที่ 2 : ถ้าเกิดหนังแม่งไม่สนุก เราก็อดที่จะด่าไม่ได้พอถึงฉากที่ตรึงใจว่าไอ้ห่าเอ๊ย เสียดายเงิน (แต่กระนั้นส่วนใหญ่ก็ต้องบอกว่ามันไม่ค่อยสนุก เพราะความเสี่ยงที่จะโดนงอนมันน้อยกว่ามาก เนื่องจากเธอจะมัวแต่อยากสมน้ำหน้า ฮ่า​ๆ) และถึงแม้จะไม่ออกอาการอะไร แต่การจะปล่อยปะละเลยนั้นมันก็ผิดมหันต์​ ครั้นจะก้มหน้าเล่นมือถือ เปิดคอมเฟซบุ๊ก แม่งก็ทำไม่ได้ เพราะจะถูกด่าซ้ำซากว่า​​ “โหย นี่ตอนไปดูก็หนีไปดูคนเดียว นี่ยังจะมาปล่อยให้เราดูคนเดียวอีกเหรอ วตฟ.”​ (ปิดคอม)

และถึงแม้การดูหนังจะมีผลดีอย่างที่เล่าไปตอนบนๆ ว่าเสริมสถานะทางสังคม สุดท้ายแล้วถ้าไปดูมาคนเดียว เราก็ไม่สามารถสังสรรค์กับเพื่อนในโลกออนไลน์ได้หรอกครับ ยิ่งกับทอปปิกที่เข้มข้นและต้องใช้การสนทนาอย่างลึกซึ้งแล้วละก็ยิ่งหมดหวัง เพราะถ้าเกิดเธอดันมาอ่านเจอก็อาจเป็นชนวนทำให้เกิดดราม่าได้ในที่สุด ทางที่ดีควรจะไปดูพร้อมๆ กันนี่แหละ

ที่สำคัญที่สุด ไปดูกับแฟนก็เพราะเผื่อว่าเธอจะเลี้ยง เดี๋ยวนี้หนังเรื่องนึงตั๋วแม่งยังกะค่ากระสวยอวกาศ ถ้าสามารถหลอกให้ไปเลี้ยงได้นี่ก็จะประหยัดด้วยแถมยังได้อัพสถานะความคูลความชิกในตัวเองด้วยนะ ยอดคุ้มเลยอะ (สุดท้ายกูก็ไปเลี้ยงข้าวอยู่ดี แพงกว่าด้วย /ทรุด)

บางคนอาจมีทางแก้ปัญหาด้วยการ “ดูสองรอบ” ซึ่งส่วนตัวแล้วผมคิดว่าเป็นทางที่ใช้ได้ไม่ค่อยจริงหรอกครับ ความเสี่ยงมันเยอะเกินไป เกิดแม่งไม่สนุกขึ้นมา ส่วนตัวก็ไม่อยากจะดูซ้ำอยู่แล้ว แถมพอบอกให้เธอไม่ต้องดู แล้วบิ๊กซีนีม่าแม่งเอามาฉายหรือไปนั่งหน้าร้านข้าวมันไก่ที่ติดกับร้านเช่าดีวีดีแล้วแม่งมีโปสเตอร์แปะอยู่ ก็อาจจะมีการพูดคุยถึงหนังเรื่องดังกล่าว และทุกอย่างจะย้อนกลับไปที่ กดดันที่ 2  นั่นเอง ซวยกูอีก แล้วส่วนใหญ่เรา (เอ่อ หรือไม่ก็ผมคนเดียว) ไม่ชอบดูอะไรสองรอบในเวลาติดๆ กัน น้อยครั้งมากที่จะดูหนังซ้ำรอบ เพราะคิดว่ามันแพงเกินไป และส่วนใหญ่มันไม่สนุกสนานอะไรขนาดนั้น ทิ้งมันไว้นานๆ ก่อนแล้วค่อยกลับมาดูอาจจะดีกว่า ดังนั้นทางนี้ไม่ใช่ทางออก

อืม…ก็เป็นเหตุผลที่เราควรไปดูหนังกับแฟนอะเนอะ นั่นแหละ สำหรับผม เพราะเวลาไม่ค่อยตรงกัน (โดยเฉพาะช่วงนี้) ก็เลยทำให้ยังไม่ได้ดูอะไรสักกะเรื่องนึง ทั้งพี่มาก พี่ไม่มาก คู่กรรม คู่แบ ฯลฯ

แต่ไม่เป็นไร ยังไงเราก็ไม่รู้อนาคตอยู่ดี เผื่อว่าวันหนึ่งบิ๊กซีนีม่ามันจะเอามาฉายใหม่ ไว้ค่อยนั่งดูพร้อมกันตอนนั้นหนังอาจจะสนุกกว่าเดิมก็ได้

เนอะ

ป.ล. งดสปอยล์พี่มากฯ และคู่กรรม นะว้อยครับ

วันนี้เพิ่งจะตัดสินใจว่าจะรับกองบรรณาธิการเพิ่มหนึ่งคน หลังจากที่มีหนึ่งคนออกไปแสวงบุญต่อ (ฮา) จึงทำให้ต้องหาคนเพิ่ม ก็เลยระลึกขึ้นได้ว่าเคยมีหลักคิดในการคัดเลือกทำงานนิตยสาร-สำนักพิมพ์อยู่อย่างหนึ่ง ต้องคุยให้เขา/เธอคนนั้นเข้าใจเสียก่อนว่า งานแบบนี้มันไม่ใช่เส้นทางการนำไปสู่การเป็น “นักเขียน”

คือมันอาจจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีทักษะในการขีดเขียนอยู่บ้าง แต่งานนิตยสารหรือสำนักพิมพ์นั้นไม่น่าจะใช้วิญญาณดวงเดียวกับการเป็นนักเขียน (อืม อาจจะเข้าใจไปหน่อยนึงอะเนอะ นี่ก็ไม่ได้คิดอะไรล่วงหน้ามาด้วย งั้นจะเล่าให้ฟังไปเป็นฉากๆ แล้วกันนะว่ามันต่างอะไรกันยังไงบ้าง)

พี่ต้อ-บินหลา สันกาลาคีรี เคยบอกผม (ตอนที่มาทำสนพ.แล้ว) ว่าหากเปรียบเป็นกองถ่ายทำภาพยนตร์ บรรณาธิการคือ “ผู้อำนวยการสร้าง” ไม่ใช่ “ผู้กำกับ” อย่างที่ใครๆ อาจเข้าใจผิด (รวมถึงผมในตอนนั้นด้วย พอได้ฟังเหตุผลก็รู้สึกว่า เออ จริงแฮะ)

มันต่างกันยังไง?​ ก็เพราะเมื่อต้องการและอยากอยู่ในตำแหน่งนักเขียน ที่เทียบได้ว่าเป็นผู้กำกับ นั่นคือความอยากที่จะดีไซน์อะไรๆ ด้วยตัวเองและนำเสนอในสไตล์ที่ตัวเองเป็น อยากตั้งแนวทางของงานไปเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ กำกับสไตล์ คัดเลือกหาตัวแสดง เรียกว่าเป็นเจ้าของไอเดียแทบทั้งหมดเลยก็ว่าได้

ส่วนบรรณาธิการ (ในที่นี้รวมถึงกองบรรณาธิการด้วย) ซึ่งเป็นฝ่ายสำนักพิมพ์ ที่ว่าเปรียบเสมือนผู้อำนวยการสร้าง ก็เพราะเรามีหน้าที่เป็นผู้ “อำนวย” ไงครับ คืออำนวยตั้งแต่ อำนวยโอกาสในการพิมพ์ต้นฉบับนั้นให้เป็นเล่มจริงๆ และโบยบินไปสู่สาธารณชนได้ และอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ นานา

อำนวยโอกาส นั่นมันก็หมายถึงการพิจารณาว่าต้นฉบับชิ้นไหนเหมาะสมที่จะเอามาพิมพ์ เป็นการคัดเลือกไอเดียของคนอื่นๆ ไม่ใช่ไอเดียของเราเอง (ถึงแม้เมื่อเจาะจงลงไปจะพบว่าไอ้การเลือกไอเดียนี้มามันก็เป็นไอเดียแหละ) ซึ่งการคัดเลือกแต่ละทีมันก็มีวิธีการคิดของใครของมัน ขึ้นอยู่กับไอเดียและแก่นหลักของแต่ละสนพ.ด้วย แต่ที่แน่ๆ ต้องรู้ว่าต้นฉบับนั้นมันดียังไง คือ ดีต่อสำนักพิมพ์ยังไง (อาจจะเท่ดี และน่าจะขายดี) และดีต่อคนอ่านยังไง

อำนวยความสะดวก มันก็เริ่มตั้งแต่เริ่มประสานงานระหว่างกองบรรณาธิการซึ่งเป็นเจ้าของอุปกรณ์สำนักงานการจัดทำหนังสือและเงินทองที่พร้อมจะนำมาลงทุนกับต้นฉบับ รวมถึงหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการในส่วนที่นักเขียนต้องการแต่อาจไม่อยู่ในขอบเขตหน้าที่หรือมีคอนแทคและความเชี่ยวชาญน้อยกว่า อย่าง การจัดหน้า, ตรวจหาคำผิด, หาสไตล์ของปกที่น่าจะถูกใจสนพ. ถูกใจคนเขียน และถูกใจคนอ่าน, การเจรจาค่าจ้างงานส่วนต่างๆ,​ อีดิตเนื้อหาบางส่วนเพื่อให้ “เหมาะสม” ที่สุดในสายตาของสนพ. (ย้ำนะครับว่าของสนพ.) รวมถึงประสานงานเรื่องค่าลิขสิทธิ์ การประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการขาย ฯลฯ และอะไรอีกมากมายที่เป็นการ อำนวยความสะดวกแก่นักเขียน (บางครั้งก็ลามไปถึงกำลังใจระหว่างทางที่เขาอาจนอยแดกประสาทเสียเพราะแม่งทวงงานกันจริงๆ ฮ่าๆ)

เห็นไหมครับว่า นักเขียน กับ กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์มันแทบจะไม่ใช่เรื่องเดียวกันเลย แต่อย่างที่บอกไปว่า สุดท้ายแล้วทักษะเกี่ยวกับการทำหนังสือ อาจจะทำให้ได้ไอเดียหรือวิธีการในการออกแบบหนังสือจนกระทั่งนำทางไปสู่การออกหนังสือหรือการเป็นนักเขียนได้ในที่สุด แต่ในตอนนั้นเราก็เป็นการสลับสวมหมวกทีละใบ ไม่ใช่ใบเดียวกันอยู่ดี

นั่นแหละครับ สโคปของการทำงานกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์คร่าวๆ (ยังไม่มีส่วนของนิตยสารเลยเนอะ ไว้มีโอกาสค่อยเล่าแล้วกัน) เอาไว้เตือนสติคนที่หน้ามืดๆ เห็นว่าทำงานหนังสือมันก็คือๆ นักเขียนนั่นแหละ ไม่ใช่เลยครับ ไม่ใช่

ทีนี้ คุณสมบัติอะไรบ้างที่กองบรรณาธิการควรจะมี ผมขอแบ่งเป็นใน “อุดมคติ” และแบบ​ “พอทำงานได้” ละกัน

แบบที่พอจะทำงานได้ก็คือเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือประมาณนึง / มีความรู้เรื่องการเขียนบ้าง อาจจะไม่ได้ดีเลิศเลอแต่ต้องรู้วิธีการที่จะทำให้คนอ่านข้อความที่เราจะพิมพ์ออกไป “รู้เรื่อง” ได้ / มีความรับผิดชอบในเรื่องการทำงาน (ไอ้นี่มันก็ทั่วไปแหละเนอะ) แต่กับงานหนังสืออาจจะมีมากขึ้นอีกหน่อยคือมันชุ่ยไม่ค่อยได้ เพราะถ้าชุ่ยมันมีโอกาสที่จะทำให้เข้าใจผิดกันไปได้หลายทอดเลยนะ / เข้าใจในแนวทางของสนพ.มากๆ เพื่อที่จะนำทางหนังสือเล่มนั้นให้ไปตรงทางอย่างที่สำนักพิมพ์ บรรณาธิการ และนักเขียนได้ตกลงกันเอาไว้

ส่วนในอุดมคติก็คือ เป็นคนที่รู้เรื่องตลาดหนังสือบ้าง คือเข้าร้านหนังสือ เห็นความผิดปกติของแผงได้บ้าง หนังสือแนวไหนขายดี แบบไหนขายแย่ แบบไหนควรเอามาขาย แบบไหนไม่ขายแต่ว่าหล่อๆ ทำออกมาก็เท่ดี ฯลฯ​ / เป็นคนที่เขียนหนังสือได้หลากหลายแนว เพราะจะได้สามารถอีดิตงานของนักเขียนได้เผื่อเวลามันกระชั้นชิด และทักษะการเขียนนี้จะทำให้การทำงานสะดวกสบายขึ้นเยอะ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจทางภาษาที่จะทำให้เข้าใจนักเขียนมากขึ้น พานจนทำให้ใกล้ชิดสนิทสนมจนทำงานกันได้ง่ายขึ้นอีก / เป็นนักสื่อสารและนักทวงงานที่ดี เพราะการทวงนี่แม่งโคตรจะมีความเสี่ยงในการจุดระเบิดเลยนะครับ โดยเฉพาะอีเมลที่บางทีขึ้นประโยคห้วนๆ นั่นก็อาจจะทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนไปเลย บางทีอาจทำให้งานมันไม่สนุกไปเลยก็ได้ ต้องระวังเลยแหละ / เป็นคนที่สนใจเรื่องรอบๆ ตัวหน่อย ไม่ว่าจะข่าวหลัก ข่าวรอง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เพราะแทบทุกที่มันมีคนน่าสนใจทั้งนั้น และไม่แน่ว่าคนเหล่านั้นอาจจะสร้างผลงานให้สนพ.ได้ (เรียกง่ายๆ ว่าเป็นนักหาของนั่นแหละ) / มีความสนใจในเรื่องกราฟิกสิ่งพิมพ์หน่อย เพราะจะได้สื่อสารกับฝ่ายศิลปกรรมได้ ยิ่งถ้ามีไอเดียที่สามารถ “สื่อสาร” เนื้อหาของเล่มได้จะแจ่มแมวมากๆ เพราะไม่ใช่แผนกศิลปกรรมแน่ๆ ที่จะคลุกคลีกับหนังสือเล่มนึงเท่ากับกองบรรณาธิการ ดังนั้นหากมีรสนิยมทางงานดีไซน์ที่ดีก็จะทำให้ทำงานง่ายขึ้น 45.44%

อืม…ประมาณนี้ล่ะมั้งครับ สำหรับคนที่สนใจอยากทำงานสนพ. แต่มันก็เป็นเฉพาะความคิดเห็นจากผม หน้าใหม่ที่ทำงานด้านนี้เต็มๆ มาแค่ 3 ปีนะครับ (ก่อนหน้านี้ทำนิตยสารอะ) แถมยังเป็นเฉพาะแบบที่สนพ.แซลมอนของผมเคยทำด้วยซ้ำ แต่ถึงไม่ถูกเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เชื่อว่าน่าจะมีประโยชน์อยู่บ้างครับ (หากรุ่นพี่ในวงการมาอ่านก็ช่วยกันแนะนำได้นะครับ :D)

ป.ล.พิมพ์อะไรงงๆ ขออภัยด้วยนะครับ ไม่ได้อีดิตอะไรทั้งสิ้น จะรีบไปกินก๋วยเตี๋ยว
ป.ล.มีอะไรอยากถาม พิมพ์คุยได้ในคอมเมนต์เลยฮะ เดี๋ยวมาตอบ :3′

วันนี้เป็นวันแรกหลังจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเลก 1 ประจำปี 2013
และวันนี้เป็นวันแรกที่เรา ทีมแซลมอนได้ออกจากออฟฟิศก่อนพระอาทิตย์ตกดิน หลังจากอยู่ปิดเล่มกันมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ นับๆ ไปก็เกือบสองเดือน

หมดแรง–เราเข้าใจความหมายลึกซึ้ง เพราะหมดแล้วหมดอีกจนไม่รู้จะหมดยังไง เมื่อเห็นว่าพอปิดหนังสือเสร็จไปเล่มนึงแล้ว ยังมีอีกเล่ม อีกเล่ม อีกเล่ม รออยู่เสมอ เมื่อถูกถามว่า เมื่อไหร่จะว่าง? เราตอบไม่ได้ – ไม่ได้เลยจริงๆ

กำลังใจของเราถูกบั่นทอนลงเสมอเมื่อเวลาโดนตำหนิ ประนาม และพบจุดผิดพลาดมากมายในเนื้องาน เวลาเจออุปสรรคที่เกิดจากความโง่เง่าเฉพาะตัว และความซวยที่หาที่มาที่ไปไม่ได้ บางอย่างเราแก้ด้วยความใจเย็น แก้ด้วยการเขกหัวตัวเอง ดุด่ามันโทษฐานที่ทำตัวไม่ได้เรื่อง และบางอย่างเราแก้ด้วยพวงมาลัย ธูป เทียน

ผมผ่านประสบการณ์แบบนี้มาหลายรอบ (อย่างน้อยก็ 4 ครั้ง) ระหว่างทางนึกอยากจะลาออกๆ ไปซะให้จบ ไปขายเต้าฮวยดีกว่า ตื่นเช้าหน่อยมาทำ ขายจนสายๆ ค่อยๆ เก็บเงิน ใช้ให้มันน้อยๆ ก็น่าจะพอยาไส้ แต่ความจริงที่เรารู้กันคือ มันยอมแพ้ไม่ได้ ไม่ใช่ว่ามีคนที่จะเดือดร้อนจากความมักง่ายของเรามากมาย แต่มันไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะยอมแพ้ มันเป็นแค่อาการหน้ามืดและงอแงเท่านั้น

และผมเป็นนักงอแง

ตลอดทางแห่งความยักแย่ยักยัน ไม่ใช่แค่ผมที่เป็นต้นเหตุแห่งความฉิปหายของทีม แต่ยังมีฝ่ายอื่นที่เป็นเจ้าของความผิดพลาดนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะกราฟิกที่ป้ำๆ เป๋อๆ ไม่ว่าจะพิสูจน์อักษรที่ตกหล่นคำผิดซ้ำๆ หรือกองบรรณาธิการที่อีดิตงานไม่ผ่านสักที กระทั่งนักเขียนเองที่ส่งงานล่าช้ากว่ากำหนดที่เคยตกลงกันเอาไว้ จนทำให้แพลนของเราสลายไปไม่ว่าจะแพลน เอ บี ซี หรือ ดี (จนกลายเป็นไม่มีดี)

ท่ามกลางความอารมณ์ดี ผมยิ้มให้ปัญหาพวกนั้น บางครั้งหัวเราะใส่ เพราะเข้าใจว่าหงุดหงิดไปก็แค่นั้น มันไม่แก้ปัญหาอะไร

แต่ยอมรับว่าตกกลางคืน ผมโมโห โกรธจนตัวสั่น หมกมุ่นอยู่กับความเซ็ง ถึงจะรู้ว่ามันไม่แก้ปัญหาอะไร

จนเมื่อหนังสือออกมาเป็นเล่ม ผมไม่กล้าเปิดดู ผมกลัวจะเจออะไรที่ตกหล่นจากความสะเพร่าของเราเอง ผมปอด ไม่กล้ารับความจริง ได้แต่มองสีหน้าคนอ่านอื่นๆ ลุ้นว่าเขาจะหันมาด้วยสีหน้าขุ่นเคือง และประนามหยามเหยียดหนังสือเล่มนั้น

ไม่เชื่อว่าผมไม่มั่นใจ แค่ผมใจตุ๊ดไปเองเท่านั้น

เมื่อวาน หลังจากป้ายแซลมอนถูกปลดลงจากหัวบูธ ซึ่งเป็นบูธที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เราเคยมี หลังจากเมื่อสามปีก่อนผมเคยนั่งอิจฉาสำนักพิมพ์อื่นๆ บนขั้นบันไดสีแดงๆ กราฟิกคนแรกของผมบอกกับผมว่าสักวันเราจะต้องเป็นยังงั้น เสียดายที่มันไม่อยู่จนได้มาแปะและดึงป้ายลงมาด้วยมือของเราเอง

เมื่อวานทำให้ผมรู้ว่า สิ่งที่ผมแปลกใจมาตลอดว่า ทั้งที่เหนื่อยจะตายขนาดนี้ ทำไมพอหมดงานสัปดาห์หนังสือฯ เรากลับเฝ้ารอการมาถึงของมันครั้งใหม่อยู่เสมอ

เพราะสายตาเปื้อนยิ้มของพวกเราที่จับมือสู้กับเหตุผลงี่เง่าทั้งหมดทั้งมวลนั่นมาด้วยกัน ทีมแซลมอนทุกคนนั่งลงกองกับพื้นศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ถอนหายใจเฮือกใหญ่ “จบบริบูรณ์” ผมบอกกับทีม งานใหญ่ผ่านไปแล้ว – ไม่สิ งานใหญ่งานหนึ่งผ่านไปแล้ว และถึงแม้จะห่วยแค่ไหน มีปัญหากันมาเยอะแยะมากมายแค่ไหน ถ้าผมมองไม่ผิด แววตาของทุกคนกลับไม่มีคำว่าท้อแท้ปนอยู่สักนิด

เพราะคนอ่านที่เปิดหนังสือของเราอย่างประณีต คำทักทายทุกคำ ยิ้มไม่รู้กี่จำนวน (ผมอธิบายลักษณนามไม่ถูก) ทุกคนที่ยืนเข้าคิวขอลายเซ็นนักเขียนที่เราลุ้นแทนเขามาตลอด คำถามสารพัดที่เกี่ยวกับหนังสือของเรา “เล่มนี้จะมาเมื่อไหร่” “เล่มนั้นหมดแล้วรึยัง” “นักเขียนคนโน้นจะมาบูธเมื่อไหร่” หรือกระทั่งคนถามหนังสือผิดบูธ เราก็ยังคิดว่าผู้อ่านช่างเป็นกลุ่มคนที่น่ารักเสมอ

เพราะคำจากหัวหน้าของผม ที่บอกว่าจบงานนี้ จะมีงานหนัก งานใหญ่รอคอยอยู่ “เป็นผู้ใหญ่ได้แล้ว” แกบอกกับผมอย่างนี้มาสองปี ถึงผมจะเป็นเด็กอยู่วันยังค่ำ แกก็ยังเมตตาและให้โอกาสใหม่ๆ อยู่ตลอด

เพราะมีสิ่งเหล่านี้ ผมถึงยังมีกำลังใจจะทำหนังสือต่อไป เพราะผมมีทีมที่ขาดๆ เกินๆ ที่ทำให้ผมอยากมาทำงานทุกวัน เพราะผมเป็นหัวหน้าที่อ่อนแอแบบนี้ เพราะมีหัวหน้าที่ดีแบบนี้ เพราะมีคนอ่านกลุ่มนี้ เพราะมีนักเขียนที่ขยันบ้างชิลบ้างและน่ารักน่าลุ้นแบบนี้ เพราะเราเป็นแบบนี้ เป็นแซลมอน ไม่ใช่อย่างอื่น

วันนี้เป็นวันแรกหลังจากงานสัปดาห์หนังสือฯ เลก 1 ประจำปี 2013
ที่เขียนมาซะยืดยาว เพราะผมอยากขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องกับหนังสือทุกเล่มในลอตนี้ ขอบคุณทีมทุกคนที่ลำบากลำบนมาด้วยกัน เรารู้ว่าทุกคนเหนื่อย แต่ทุกคนสุดยอดมากๆ งานหนักรอเราอยู่ สู้ต่อไปด้วยกันนะ

ขอบคุณนักเขียนทุกคนที่อดทนกับการทำงานแบบเด็กๆ ของเรา อดทนกับวิธีแก้ปัญหาแบบฉุกละหุก และวิธีการทวงงานประหลาดๆ ของพวกเรา ขอบคุณที่ยอมวางใจและเชื่อใจให้เราดูแลต้นฉบับของทุกๆ คน

ขอบคุณคนอ่านทุกคนที่เติมกำลังใจให้เราตลอดทั้งในงานและในเฟซบุ๊ก หรือกระทั่งในทวิตเตอร์ของผมเอง ถึงจะดูเป็นไสยศาสตร์แต่มันมีพลังงานอะไรบางอย่างอยู่จริงๆ นะครับ ขอบคุณที่ทำให้งานครั้งนี้ผ่านไปอย่างดีและสนุกโคตรๆ

ขอบคุณที่ทำให้วันนี้ผมกลับบ้านก่อนพระอาทิตย์ตก
ที่ทำให้อากาศร้อนๆ กลายเป็นเย็นชื่นใจ

ไว้เจอกันใหม่
ขอบคุณครับ.

ป.ล.ยังไม่ลาออกนะ

ไปบ่นในทวิตเตอร์เอาไว้ แถมไปโพสต่อในเฟซบุ๊ก
ไหนๆ ก็ไหนๆ หนีบมาเอาไว้ในนี้ด้วยก็แล้วกัน

อยากบ่นเรื่อง IN PUT / OUT PUT ของวัยรุ่นหน่อย โดยเฉพาะพวกกราฟิกดีไซน์ทั้งหลาย ที่เดี๋ยวนี้ดูกันเฉพาะใน Pinterest ไม่ได้เลย…

เล่านะครับ ว่าส่วนหนึ่งในการพิจารณา “พอร์ต” ของกราฟิก เราจะมีการแอบส่องสิ่งที่เขาสนใจ บางคนชอบสิ่งที่เท่ๆ เจ๋งๆ สวยงาม แบบไม่ธรรมดาแหงๆ ซึ่งการเสพงานดีๆ มันโคตรดีอยู่แล้วล่ะครับ แต่มันติดตรงที่ว่า In put พวกนี้ไม่ได้ถูกแสดงออกมาเวลาทำงานเลย!

เช่น Pinterest บางคนพินงานอาร์ตแบบมีคลาส และดูแล้วน่าจะเอามาต่อยอดได้แหง และดูจากจำนวน สิ่งเหล่านี้น่าจะซึมซับไปได้แล้ว ปรากฏว่าไม่…

ทำไมอะ?

ผมคิดไปเองว่า เพราะไอ้โลกที่เราแข่งกันวิ่งควาย ตามหาสิ่งที่คิดว่าสวยตามเทรนด์ และคิดว่าได้ครอบครองก็ถือว่าชนะนี่แหละ ซึ่งทุกอย่างมันถูกออกมาให้อย่างสำเร็จรูป Pinterest ถ้าคุณอยากจะมีงานเท่ๆ ไว้พิน ก็แค่ follow บางคน อยากถ่ายรูปสวยก็แค่ใช้ฟิลเตอร์สวยๆ

พอถามว่า ทำไมมีเรเฟอเรนซ์ตั้งมากมาย เสพสิ่งดีๆ มากมาย ทำไมถูกแปลงออกมาใช้ต่อไม่ได้…? นั่นก็เพราะระดับการรับรู้ของคน…นั่นแหละครับ เดี๋ยวนี้ดูกันแค่ IN PUT ไม่ได้แล้ว เพราะมันมักง่ายเกินไป อินเทอร์เน็ตบั่นทอนการพัฒนาด้านทักษะจนมืดบอดไปแล้วหลายคน

ดังนั้น ก่อนจะชอบอะไร ขอให้คิดให้ดีว่า เราจะชอบเพราะจะทำให้คนอื่นชอบ? หรือ เราชอบมันจริงๆ และชอบเพราะอะไร? ไม่งั้นมันก็ไม่ต่างอะไรจากคนที่มางานหนังสือ ซื้อหนังสือ เอาไปขึ้นชั้นวาง และถ่ายรูปโชว์คนอื่น แต่ไม่ได้อ่านหรอก

พอพูดเรื่องนี้ขึ้นมา ก็ทำให้เห็นนะครับว่า คนจำนวนไม่น้อยเนี่ยคิดว่าชีวิตแม่งเหมือนเกม RPG ที่แค่ถือครอง item แล้วทักษะจะ + ตาม เช่น ถือหนังสือเล่มนี้แล้วกูจะฉลาด ได้มานั่งอยู่ในที่แห่งนี้แล้วคิดว่าเราแม่งอยู่ในกรุ๊ปครีเอทีพ ฯลฯ เช่นกัน การ Pin หรือ share ก็เข้าข่าย

ต้องมีสติหน่อยว่ามันไม่ใช่ แค่บวชไม่ยืนยันว่าจะนิพพานหรือละกิเลสได้ทันที มันต้องพยายามฝึกปะ? เนอะ มีคนเข้าใจผิดเยอะ และไปด่าก็ไม่ได้ด้วยนะ

โดยเฉพาะคนทำงานหนังสือ ถ้าประมวลอะไรพวกนี้ และนำมาใช้ไม่เป็น ไปหาอย่างอื่นทำดีกว่า

จบการบ่น

เพิ่มอีกนิดด้วย เพราะพอมานั่งคิดต่อ ก็คิดได้อีกว่าระดับในการประมวลสิ่งที่ร่างกาย (และชีวิต) จะนำไปใช้ มันก็ขึ้นอยู่กับระดับความพอใจส่วนตัวด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะไปบังคับให้ใครมาพอใจเหมือนกับเราได้ แต่งงตรงที่บางคนปรับระดับความพอใจได้ไม่เหมาะสมกับชีวิตเอาเสียเลย อธิบายก็คือ ถ้าเป็นแม่ค้าขายไส้อั่ว น้องแค่รู้จักแอนดี้ วอฮอล หรือฟังเพลง SO-ON Dry flower มันก็โคตรจะเท่มากในหมู่แม่ค้าไส้อั่วแล้ว แถมยังไม่ต้องนำสิ่งที่ฟังหรืองานที่ดูมาประมวลเลยด้วยเพราะมันอาจไม่จำเป็นต่อชีวิตขนาดนั้น แต่กับกราฟิกดีไซน์หรืองานด้านออกแบบมันก็ต้องคิดอีกอย่างรึเปล่า? เพราะไส้อั่วของน้องก็คือไอเดียและงานศิลปะ แต่ไหงปรับระดับความพอใจได้ห่างไกลจากชีวิตตัวเองเหลือเกินล่ะ?​ นี่มันยิ่งแสดงให้เห็นถึงการปล่อยปะละเลย และปล่อยเนื้อปล่อยตัวแบบสุดๆ ไปเลยนะ

จบของจริง

นั่งดู YouTube ไปเจอเพลงของพี่แมว-จิระศักดิ์ ปานพุ่ม (เด็กๆ อ่านแล้วคงว่าคุณพี่เขาเป็นใคร / พอบอกว่าผัวพี่นิโคล / มันก็ถามต่ออีกว่า แล้วพี่นิโคลคือใคร / อืม กูแก่ จบ) แล้วทำให้คิดถึงสมัยวัยละอ่อนเกือบๆ 10 ปีที่แล้ว

เมื่อก่อน ผู้ชายที่เล่นดนตรีนี่มัน(คิดว่ามัน)เท่นะครับ ยิ่งตัวเล่นกีตาร์เนี่ยโคตรเท่เลย  ยืนก็ได้ยืนข้างฟรอนต์แมน พูดอะไรก็ไม่ต้องพูด แค่ดีดๆ ของมึงไป เล่นผิดเมื่อไหร่ก็แกล้งเหยียบตู้แอมป์ ทำหน้าตาเหยเก แล้วอ้างว่าเป็น feel ได้ด้วย ไม่เหมือนมือกลองที่นั่งเหงื่อแตกอยู่ข้างหลังสุด ยืนมาเก๊กก็ไม่ได้ เล่นผิดก็เสือกทำวงล่มอีก แถมยังมีฉิ่งฉาบมาบังหน้าอีกต่างหาก ส่วนอีมือเบสก็เล่นอะไรไม่รู้ วัยรุ่นไม่เก็ต ดัง ดุ่ม ดุ่ม ดุ่ม ประสาท ไม่รู้เรื่อง กีตาร์สิเท่ที่สุด

และถ้าจะเล่น ก็ต้องเป็นกีตาร์ยี่ห้อ Ibanez รูปทรงสุดจะเท่ด้วยนะ เพราะคนรุ่นพ่อเราเขาใช้ Fender แบบเบสิกๆ (Stratocaster, Telecaster) กันมาจนเบื่อ วัยรุ่นเลือดร้อนอย่างเรามันต้องไอบาเนสโว้ย เพราะเราร็อก เราฮาร์ดคอร์ เราหนักแน่น! หนักข้อหน่อยก็นี่เลย Flying-V เดธมากๆ หรือไม่ก็ซิกเนเจอร์ของ HIDE วง X-Japan เป็นไง นอกจากจะเท่แล้วยังแสดงตัวว่ามึงฟังเจร็อกด้วยนะโว้ย แต่แม่งก็แพงเหลือเกินว่ะ ไปขอพ่อ พ่อก็จะซื้อยี่ห้อ Barracuda ธรรมดาให้ใช้ ก็ไม่ยอม ก่อดราม่า เล่นจิตวิทยา ล็อกประตู ประท้วงอดข้าว กลายเป็นเด็กอีโมฯ บ้านแตกเฉยเลย

แต่ก็อย่างว่า ย้อนกลับไป ตอนอายุสิบกว่าก็เริ่มเข้าสู่วัยที่ต้องการความแตกต่าง แถมยังแสวงหากันอย่างต่ื่นตูมอีกด้วย ยังไม่มีสติมากพอที่จะตรวจสอบว่าบางอย่างมันเหมาะกับตัวเราจริงไหม หรือเรามีฝีมือมากพอที่จะครอบครองมันไหม หรือจะครอบครองมันในฐานะอะไร เพราะบางทีเราก็แยกไม่ออกระหว่าง “ของจริง” กับ “ของเล่น”

ซึ่งทั้งสองอย่างนี่มันตลกตรงที่ มันสามารถสูญสลายกลายร่างไปตามช่วงวัย (หรืออาจจะช่วงวันด้วยซ้ำ) ในบางวันหรือบางวัย สิ่งสิ่งหนึ่งอาจดูสลักสำคัญกับเรา แต่แค่ผ่านไปได้ไม่นานก็รู้สึกว่ามันไร้สาระจนหาเหตุผลมาอธิบายไปไม่ได้

เช่นกัน เม่ื่อกีตาร์ตัวหนึ่งถูกวางลงนิ่งๆ ในวันที่ไอ้หนุ่มนั่นมันลืมไปแล้วว่าเคยดีดเป็น คราวนี้จะเป็นรุ่นใด ยี่ห้ออะไร หรือวางไว้อยู่ตรงไหน มันก็ไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว

เศร้า

นี่ กีตาร์ Ibanez เผื่อใครคิดหน้ามันไม่ออก ผมมีอยู่ตัวนึง อ้อนย่าให้ซื้อให้
แต่สุดท้ายพอคนใช้เยอะๆ ก็เริ่มเบื่อ จากที่เท่มันก็กลายเป็นไม่เท่ไปเลย
ไม่รู้ว่ามันผิดอะไร

กีตาร์ Ibanez ที่ใช้แล้วเท่กว่าใส่ชุดนักเรียนตราสมอ

ประกาศไว้เสียตั้งแต่บรรทัดแรก
บล็อกเอ็นทรี่นี้ที่ห่างหายไปเสียนาน มีมูลค่าสามร้อยบาทถ้วน!
เนื่องจากโดนใบสั่งของคุณพี่จราจร เขาแจ้งว่าข้าพเจ้าไปจอดในเขตห้ามจอด
หน้าร้านมนต์นมสด ข้างศาลาว่าการกทม. เยื้องไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
นึกอยากกินโจ้ก จึงสนองตันหาด้วยการพากันไปกินร้านเจ๊หงส์ข้างร้านมนต์ฯ
เป็นโจ้กรสชาติโอเค แต่ดีที่บรรยากาศด้านในร้านซึ่งแฝงอยู่หลังตึก
เงียบ เป็นส่วนตัว และน่ากลัวจะมีแมลงสาป (ซึ่งก็ไม่เห็นนะ)

กินโจ้กอิ่ม ซื้อนมเสร็จเรียบร้อย เดินกลับไปที่รถ
ระหว่างทางก็เห็นว่ารถแต่ละคันไม่จำกัดยี่ห้อล้วนมี สคส. แปะอยู่
เป็นใบใหญ่หนึ่งใบ ใบเล็กหนึ่งใบ ลุ้นอยู่ว่าเราจะมีวาสนากับเขาไหมนะ
สคส.ย่อมาจากอะไรไม่รู้ แต่ส่วนใหญ่จะเซอร์ไพร์สเมื่อได้รับ
ก่อนจะเห็นใบสั่ง ก็พบว่ารถโดนล็อกล้อไปเรียบร้อย…

แน่นอนว่าเป็นใบสั่งแบบเว้นช่องราคาค่าปรับเอาไว้
เพราะอะไร? ติดตามย่อหน้าล่าง

ไม่ค่อยเซ็งเท่าไร อาจเพราะอากาศไม่ร้อน และรู้สึกสมองเพี้ยนมาตั้งแต่เย็น
เดินไปถามคุณพี่ตำรวจที่กำลังไขล็อกให้รถอีกคัน
แกบอกว่าให้ไปสน.สำราญราษฏร์ ไม่ไกล เดินไปก็ได้ หรือไม่ก็นั่งสามล้อ
เสียค่าปรับไม่เกินสามร้อยบาทนะครับ แกบอกก่อนจะเดินจากกัน
ระหว่างนั้นก็ได้ยินไอ้หนุ่มเจ้าของรถคนหนึ่งกำลังรบเร้าให้พี่แกไขล้อให้
คนแก่ข้างๆ บอกว่า ก็ให้มันไปร้อยนึง เดี๋ยวมันก็ปล่อยเอง
ข้าพเจ้าไม่ใส่ใจ จ่ายก็ได้ เพราะเกิดมายังไม่เคยขึ้นสน. ถือซะว่าเป็นค่าตั๋ว

สน.สำราญราษฏร์ อยู่ไกลจากร้านมนต์นมสดสี่สิบบาทรถสามล้อ
ซึ่งเป็นราคาที่แพงเกินจริง เพราะเดินนิดเดียวก็ถึงแล้ว ไม่รู้จะฟันกูไปถึงไหน
เห็นกูเป็นฝรั่งหรืออย่างไร เบื่อกับไอ้พวกหากินกับความไม่รู้ของคน
อย่าให้มาถามทางไปคิโนคุนิยะสาขาเซ็นทรัลเวิลด์บ้าง กูจะชี้ให้เดินรอบสามย่าน

ทางเข้าสน.สำราญราษฏร์ เปลี่ยวเกินจะเป็นสถานีตำรวจ
ข้าพเจ้าไปกับแฟน ในแว้ปแรกกลัวเธอถูกทำร้ายจากกลุ่มจิ๊กโก๋
แต่คิดอีกที อ้าว! กูมาสถานีตำรวจนี่

ด้านในห้องจราจรที่จำชื่อเต็มไม่ได้ คุณพี่ตำรวจนั่งโต๊ะจังก้าตรงหน้าประตู
ข้าพเจ้าชูใบสั่งให้ดู ทั้งใบเล็ก-ใบใหญ่ ท่านเหมือนรู้งาน หยิบใบเสร็จรับเงินเตรียมทันที
ถามเขาว่า จริงๆ แล้วถ้าจะให้รอดจากการล็อกล้อ ต้องจอดตรงไหนครับ
พี่แกบอกว่า ตรงนั้นจอดได้หลังห้าทุ่มเป็นต้นไปนะครับ
ส่วนฝั่งตรงข้าม ห้ามจอดตลอดเวลานะครับ
แล้วคนจะไปกินร้านมนต์ฯ จะจอดตรงไหน ห้าทุ่มร้านก็ปิดแล้วนี่นะครับ?
จอดในซอยครับ ตรงแถวศาลเจ้าพ่อเสือไงครับ (อืมม์ ไกลไปไหม)
แล้วไอ้ที่บอกว่าห้ามจอดตลอดเวลา ข้าพเจ้าก็เคยไปจอดอยู่ตั้งหลายครั้ง ทำไมรอด
มาตรฐานอยู่ที่ไหน? อันนี้ไม่ได้ถาม เพราะกลัวจะโดนจิ๊กโก๋ทำร้าย
ยักไหล่ไปทีนึง ถูกถามถึงใบขับขี่ที่ยังไม่มี หลอกไปว่าอยู่ในรถ (อย่าทำตาม)
จึงให้บัตรประชาชนไปแทน พะวังนั้นยังรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยอยู่ดี กลัวถูกยึดไป
เจ็ดร้อยบาท-พี่แกแจ้งยอดค่าใช้บริการ
สะดุ้งในใจระดับเจ็ดริตเตอร์ (!!!!)
แต่ว่าพี่ตรงโน้นเขาบอกว่าสามร้อยนะครับ? แกถามสวนว่าจริงเรอะ?
คิดในใจว่ากูจะหลอกมึงทำไม ทั้งที่อยากจะหลอกจะตายให้ห่ากิน…
แต่แกก็ไม่อิดออด สามร้อยก็สามร้อย จ่ายแบงก์ห้าร้อย ได้ทอนมาสอง
ก็เงินจากกระเป๋าพี่เขาเองนั่นแล
แหม เกือบได้กำไร – แกว่า
ข้าพเจ้ายิ้มเย้ย ก่อนจะเซ็นชื่อลงในช่องผู้ต้องหา
(…)

คลายข้อสงสัยไปนิด ว่าทำไมช่องราคาจึงต้องถูกเว้นไว้
ไม่ใช่เอาไว้เป็นช่องว่างในการยืดหยุ่นความเมตตาของพวกพี่ท่านเป็นชัวร์
เคยถูกใบสั่งหนึ่งครั้ง และข้าพเจ้าไม่นิยมการถูกจับเป็นผู้ต้องหาต่อเนื่อง
พยายามหาทางชำระค่าปรับโดยไม่ต้องถ่อสังขารไปถึงสน.ทองหล่อ
ใบสั่งกำกับเอาไว้ว่าสามารถจ่ายทางธนาณัติได้ สะดวกจริง ข้าพเจ้าสะดวกใจ
แต่ไม่มีจำนวนเงินค่าปรับ… จะให้จ่ายยังไง? ไม่ใช่ทำบุญนี่นะ
ทำใจเอาไว้ว่าตอนที่เอารถไปต่อภาษี ก็คงต้องโดนปรับ
เดี๋ยวนี้อะไรก็เข้าระบบคอมฯ ประวัติของรถเราก็คงจะถูกคีย์เข้าไปส่วนกลางเรียบร้อย
นายณัฐชนน เจ้าไม่มีทางรอดจากการจอดรถในซอยเปลี่ยวแน่นอน!
เอาเถอะ เงินค่าปรับเหล่านั้นก็คงกลายเป็นประโยชน์แผ่นดินบ้าง ช่วยไม่ได้ กูผิดนี่นะ
แต่สุดท้ายในประวัติคอมฯ ก็ไม่มี ข้าพเจ้าต่อภาษีรถได้โดยที่ไม่เคยติดคดีใด
… ปล่อยให้ผู้ต้องหาทำผิดโดยไม่รับโทษได้ยังไง? แล้วใบสั่งนั่นเป็นแค่เยื่อไม้ไร้ประโยชน์
โอเค.ต้องไปสน. โอเค.เงินต้องถึงมือเขา โอเค.หลังจากนั้นก็ไม่รู้จะยังไง
ได้แต่ถอนใจ ดีใจนิดหน่อยที่ไม่ต้องจ่ายเงินหลายร้อย
คิดไป ก็ต้องโทษระบบราชการ ที่กดขี่ให้มนุษย์นิสัยเสีย โดยเฉพาะพี่หัวปิงปอง
ข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกเขารู้จักพอแน่ หากได้รับการเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดีพอ
จะไปกล่าวโทษว่าละโมบไม่ได้ จงโทษระบบที่เหนือกว่า โลภกว่าจนน่าเตะข้อพับและยันคอ

เดินกลับมาจากสน.สำราญราษฏร์ รถไม่ต่ำกว่าห้าคันถูกจองจำ
ป้าคนหนึ่งต่างบอกเตือนคันที่จะมาจอดว่าอย่าจอดเลย เดี๋ยวโดนล็อกล้อ
บอกป้าไปว่าเสียค่าปรับแค่สามร้อยก็พอนะ แกรีบโทรไปบอกฝ่ายที่กำลังไป สน.
ส่วนลุงอีกคนบอกว่า เพิ่งเสียไปห้าร้อย
ข้าพเจ้าได้แต่ ยักไหล่-ยักไหล่

เดินจนถึงรถ พบว่าล้อไม่โดนล็อกแล้ว
งี้ล่ะ เมื่อมีเงิน อะไรก็ไหลลื่น เดินสะดวก

ขับรถออกมาจากตรงนั้นพบว่าวันนี้รถไม่ติดเท่าไหร่
อาหารมื้อเมื่อครู่รสยังอยู่คาลิ้น โจ้กอร่อย แต่มื้อนี้แพงเป็นบ้า
ขอบคุณกฎหมายห่วยๆ มาตรฐานห่วยๆ
ที่ทำให้ข้าพเจ้าสะเพร่าในการจอดรถ และมองข้ามกฎหมายไป

บอกเธอว่าไม่เป็นไร ถือซะว่ามากินข้าว-เดินเล่น
เรายังไม่เคยจูงมือเดินเรื่อยเปื่อยแถวศาลาว่าการฯ กันเลยนี่นา
เรายังไม่เคยขึ้นสน.พร้อมกัน ไม่เคยถูกโกงค่ารถสามล้อด้วยกัน
ยังไม่เคยบอกรักกันข้างๆ แก๊งจักรยานน่ากลัวๆ กันเลย

ถือว่าคุ้มค่าเงิน

เอาล่ะ ทีหน้าทีหลังถ้าจะจอดในที่ห้ามจอด
มีเพียงสิ่งเดียวที่อยากแนะนำ
กรุณาไปจอดในที่ที่ยังไม่เคยไป

ใบสั่งมันสอน
: )

เย็น

ค้างบล็อกไปแรมเดือน
วันนี้นั่งอ่านบล็อกคนอื่นแล้วก็เกิดสะท้อนใจ
อยากจะเขียนบล็อกในวันหยุดรัฐธรรมนูญ

แต่ก็ไม่มีอะไรจะเล่า
ไม่สิ ที่จริงมี แต่ไม่รู้จะเล่าอะไร
หลังหลังข้าพเจ้าเสียจริตในการแชร์เรื่องราวส่วนตัวลงในบล็อก
(ที่จริงคือโลกอินเทอร์เน็ตทั้งหมด) พยายามจะไม่ฟูมฟายหรือดราม่า
เพราะคิดว่ามันเริ่มยุ่มย่าม และทำตัวรุ่มร่ามเข้ามากระแซะไม่รู้มารยาทขึ้นทุกที
ดังนั้นพื้นที่ตรงนี้จึงเริ่มห่างหายไป น้อยครั้งที่จะทนไม่ไหวจึงต้องระบายลงหน้า #fb

จนเมื่อวานเกิดความรู้สึกเหนื่อยปนหน่าย หมดแรงจะพูดพร่ำ (เพราะอยู่คนเดียว)
กำลังทั้งหมดที่มีจึงพุ่งพล่านอยู่ในตัว ส่งผลให้เกิดอาการฉุนเฉียว
วุ่นวายราวมีสุนัขสักเจ็ดตัวไล่ฟัดกันอยู่บริเวณท้องน้อย
เดินวนเวียนอยู่ในเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ที่ห่างจากห้องพักราวร้อยบาทแท็กซี่

เสียงเรียกเข้า *
หยิบโทรศัพท์กดรับ ข้าพเจ้าเริ่มระบายเรื่องที่หงุดหงิดใจให้ปลายสายฟัง
ไม่เพียงออกตามคอนเทนส์ ทว่าด้วยสำเนียงลีลาของข้าพเจ้า กำลังทำตัวเป็นไวรัส
ดีที่เธอภูมิต้านทานสูง แม้เกือบจะติดไปด้วย ก็ยังเตือนสติข้าพเจ้าได้ด้วยบางคำ
วินาทีหนึ่งคิดถึงที่ที่ของตัวเอง ตรงไหนกัน? ถ้าอินเทอร์เน็ตที่ว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว
ข้าพเจ้าจัดให้มันแยกออกไปอยู่เป็นเอกเทศ โดยที่ไม่ได้ครองตัวเป็นประชาชนของมัน
ในโลกที่ข้าพเจ้าไม่คุยเรื่องส่วนตัวกับเพื่อนสนิท ไม่บ่นอะไรกับพ่อแม่
และเธอยังไม่พร้อมจะฟัง? ข้าพเจ้ายังมีที่ไหนอีก
เกือบจะถอดใจไป แต่หลังจากคำขอให้วางสายของเธอเพื่อให้ข้าพเจ้าไปสงบใจ
เหมือนสุนัขเจ็ดตัวนั้นได้ยินเสียงกำราบ และพบว่าที่แท้ข้าพเจ้าก็เชื่องนี่หว่า?
พบอีกว่าความเข้าใจ และปรับใจในเรื่องราวร้อนรนเป็นเรื่องไม่ยาก
ร้อนนัก? “ก็ใจเย็นสิคะ มันช่วยได้” เธอว่า

ไม่รู้ว่าใช่เรื่องเล่าไหม แต่รู้สึกเย็นใจที่ได้ใจเย็น
และเย็นใจ ที่อย่างน้อยก็รู้ดีหว่าบางทีข้าพเจ้าไม่ได้ต้องการพื้นที่กว้างขวาง
แต่แค่ต้องการลมพัดเย็นสบายจากที่ไหนสักแห่ง ขณะที่นั่งยืดแข้งขาอยู่กับที่มากกว่า

สุนัขเจ็ดตัวกระดิกหาง นอนฟุบลงกับพื้นกระเบื้อง
ไม่นานมันก็หลับไปพร้อมเสียงโมบายกรุ๊งกริ๊ง
ข้าพเจ้าเห็นตัวเองเป็นเช่นนั้น